Raspberry Pi 4 Model B 4GB RAM- Main Board
ก่อนที่ผมจะทดลองทำโปรเจค ผมขอมาพูดถึงเจ้า Raspberry Pi4 Model B ที่ผมซื้อมานี้หน่อยนะครับ สำหรับใครที่คุ้นเคยกับมันดีอยู่แล้ว ก็ผ่านไปได้เลยนะครับ ผมขอพูดในมุมของมือใหม่ (รวมถึงผมด้วย) ที่อาจจะยังไม่ได้เข้าใจอะไรอย่างลึกซึ้งมากพอ แต่ผมก็ได้ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเจ้า Raspberry Pi4 Model B นี้มา เพื่อแบ่งปันความรู้กับมือใหม่ด้วยกัน ความจริงแล้ว Raspberry Pi (อ่านว่า ราส-เบอร์-รี่-พาย) มันเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วเครื่องหนึ่ง ที่มีขนาดเท่ากับบัตรเครดิตแค่นั้นเองครับ เล็กขนาดไหน ก็เล็กกว่าฝ่ามือของผมอีกครับ ลองคิดดูว่าผมสามารถหยิบมันใส่กระเป๋าเสื้อนักเรียนได้อย่างสบายๆ เลยครับ ราคาก็ถือว่าถูกกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop เครื่องใหญ่ๆ อยู่มาก ถึงแม้ว่าตัวมันดูจะเล็กมากๆ แต่ประสิทธิภาพของมัน ไม่ได้เล็กตามเพราะ สามารถแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop ทั่วไปได้อย่างสบายๆเลย
Raspberry Pi เกิดขึ้นจาก ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คน คือ Eben Upton, Rob Mullins, Jack Lang , Alan Mycroft ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี 2006 เขามีจุดมุ่งหมายต้องการที่จะให้ Raspberry Pi เป็นคอมพิวเตอร์ราคาย่อมเยาที่ใครๆ ก็สามารถหามาครอบครองได้ และสามารถศึกษาการทำงานของคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งการเขียนโปรแกรมง่ายๆ ได้ทันที และเหตุที่ Raspberry Pi เป็นแบบบอร์ดวงจรรวม (Single-board computer) ที่เปลือยเปล่านั้นก็เพราะเขาต้องการทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นชิ้นส่วนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เข้าใจการทำงานของคอมพิวเตอร์ได้ดียิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้ มีการออกแบบ Case สำหรับ Raspberry Pi ทำมาเป็นชุดขายพร้อมกับอบร์ดด้วย เช่นชุด Raspberry Pi 4 Model B 4GB and Kits (Pi4 4GB Starter Kit) ที่ผมได้ซื้อมานี้ จึงทำให้ดูปลอดภัยในการนำมาใช้งานมากยิ่งขึ้น
Raspberry Pi นั้นพบว่าผู้ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักศึกษา และโปรแกรมเมอร์ และโดยเฉพาะ YouTuber ชาวยุโรป ผมเห็นเขานิยมเอามาทำพวกโปรเจค หรือมาพัฒนาทำระบบงาน เช่น Face Detection ต่างๆกัน ทั้งคน สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของ รถยนต์ อะไรมากมายหลายอย่างซึ่งมันน่าสนใจ
ส่วนในไทยก็อาจจะมีกลุ่มผู้ที่สนใจอยู่บ้างแต่ก็ไม่มาก ผมได้ไปสืบค้นดู Raspberry Pi แต่ละรุ่นก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากๆ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ เช่นทำเป็น Webserver, ใช้งานกับกล้อง Webcam, Facial Recognition ตรวจจับแยกแยะจดจำใบหน้า, IOT Smart Home และยังมีอีกหลายๆอย่าง ที่ผมไม่ได้พูดถึง
ส่วนโปรเจคที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในตอนนี้คือการนำเอา กล้อง Webcam อุปกรณ์ที่ผมใช้ในการเรียน Online ที่มีอยู่แล้วนี้ มาใช้งานร่วมกับ Raspberry Pi ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งผมก็มองๆไว้ว่า น่าจะเป็นประเภท ใช้กล้องเพื่อแจ้งเตือน หรือช่วยรักษาความปลอดภัยให้เรา หรือการลงทะเบียนคนเข้าอบรม เช็คเวลาเข้าทำงาน อะไรประมาณนั้นครับ เช่น Face Detection, Object Detection ซึ่งมารอดูกันว่าผมจะสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับคอมพิวเตอร์เครื่องเล็กๆนี้ และนำมันมาพัฒนาให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ ได้มากน้อยแค่ไหนครับ
มาดู อุปกรณ์มาตราฐานสำหรับ Raspberry Pi4 Model B (ชุด 4GB Starter Kit) ที่ผมซื้อมา มีดังนี้ครับ
1. Main Board Raspberry Pi 4 Model B 4GB
2. Micro SD การ์ด 32GB พร้อม RPI OS Preloaded
3. สาย Raspberry Pi Micro HDMI to Standard HDMI Cable
4. อะแดปเตอร์ Official RPi 15W USB C Power Adapter
5. เคส ABS Case (Black) for Pi 4
6. พัดลม ขนาด 3V-5V Cooling Fan สำหรับ RPi with Screws
7. Heat sink ระบายความร้อน สำหรับ Pi 4
8. คู่มือ Safety and User guide
9. เข็มกลัดวงกลม TRUST ME I’M A MAKER
10. ใบเสร็จจากบริษัท
ในส่วนของตัวบอร์ด Pi4 B (Raspberry Pi4 Model B) นั้น มีดังภาพครับ
บอร์ด Raspberry Pi4 Model B นั้น มี Port ส่วนสำคัญๆ ที่จะนำมาต่อใช้งานดังนี้ครับ
# USB Type C for Power 5V/3A:
เป็น Port ไฟเลี้ยงชนิด USB Type-C รับไฟมาจาก Power Adapter ขนาด 5V./3A (อะแดปเตอร์ Official RPi 15W USB C Power Adapter) เขาแนะนำให้ใช้ของ Raspberry Pi โดยตรงนะครับ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด อันนี้แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคนนะครับ
# 2 x Micro HDMI Ports (up to 4K60fps):
Port สำหรับต่อออกจอ Monitor เป็น Port ขนาดเล็ก เรียกว่า ไมโคร HDMI ครับ มีมาให้ 2 Port ครับตาม Spec. รองรับการดู Video ที่มีความละเอียดสูงขนาด 4K ที่ 60 เฟรมเรตต่อวินาที (4K60FPS) ในกรณีที่ต่อแบบจอเดียว และที่ความละเอียดสูงขนาด 4K ที่ 30 เฟรมเรตต่อวินาที (4K30FPS) ในกรณีที่ต่อแบบ 2 จอพร้อมกัน
# MIPI CSI Camera Port (Camera interface):
เป็น Port สำหรับต่อกล้อง เช่น Raspberry Pi 8MP Camera Module V2.1
# Audio+Video Composite 3.5mm Port:
เป็น Port สำหรับต่อแจ๊ค ขนาด 3.5 mm แบบมาตราฐาน 4 ชั้น เช่นเดียวกับที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ (Left, Right, Common, Mic Input)
# 2 x USB 2.0 (สีดำ):
เป็น Port USB 2.0 (สีดำ) จำนวน 2 Port ใช้สำหรับต่ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น Mouse, Keyboards, Flash Drive หรืออุปกรณ์ภายนอกอื่นเช่นเดียวกันกับ คอมพิวเตอร์
# 2 x USB 3.0(สีฟ้า):
เป็น Port USB 3.0 (สีฟ้า) จำนวน 2 Port ใช้สำหรับต่ออุปกรณ์ต่างๆ เช่นเดียวกันกับ USB 2.0 แต่มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลได้สูงกว่า USB 2.0
# True Gigabit Ethernet Port:
เป็น Port เชื่อมต่อสาย LAN รองรับความเร็วในการส่งถ่ายข้อมูลที่ 1 Gbps และการเชื่อมต่อในแบบ Wireless มี WiFi ทั้งคลื่นความถี่แบบ 2.4 GHz และ 5GHz รวมทั้งยังมี Bluetooth 5.0 และ Bluetooth Low Energy (BLE)
# PoE Header Pins:
เป็น Port เอาไว้สำหรับต่อไฟแยก
# 40 Pins General-Purpose Input/Output Header:
เป็น Port เอนกประสงค์ที่สามารถควบคุมการตั้งค่า ผ่านการเขียนโปรแกรมคำสั่ง เช่น Python, C/C++ ให้มีสถานะ เป็น “1” หรือ “0” ได้ ตามการออกแบบเพื่อไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ให้เกิดการทำงานตามคำสั่ง เช่น การควบคุมการเปิด/ปิดอุปกรณ์ภายในบ้าน
# Micro SD Card Slot:
ช่องเสียบ SD Card รองรับสูงสุดขนาด 256GB เป็นส่วนที่ใช้สำหรับลง OS ระบบการทำงานให้กับ Raspberry Pi รวมทั้งการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลต่างๆ
# MIPI DSI Port (Display device):
เป็น Port สำหรับต่อจอ Display เช่น 4.3-inch 800×480 DSI Capacitive Touchscreen IPS LCD
ครับทั้งหมดนี้ ผมได้เลือกเอาจุดสำคัญๆ ที่ผมคิดว่ามือใหม่อย่างเราๆ จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งาน เจ้า บอร์ด Pi4 B (Raspberry Pi4 Model B) ตัวนี้ ได้อย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้อย่างแน่นอนเลยครับ ในบทความต่อไป มารอดูกันครับ ผมจะทำโปรเจคอะไรเกี่ยวกับ Raspberry Pi4 ตัวนี้ครับ
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของ Raspberry Pi: https://www.raspberrypi.org/
แกะกล่อง Raspberry Pi 4 Model B 4GB RAM