ชุดควบคุมการชาร์จไฟโซลาร์เซลล์

ชื่อ : ชุดควบคุมการชาร์จไฟ 30A Solar Charge Controller

ชุดควบคุมการชาร์จไฟ โซลาร์เซลล์ หรือ โซลาร์ชาร์จเจอร์ (Solar Charge Controller) หรือบางทีหลาย ๆ คนเรียกว่า คอนโทรลชาร์จเจอร์ คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่งครับ ที่มีคุณสมบัติ คอยควบคุมการชาร์จกระแสไฟฟ้า จากแผงโซลาร์เซลล์เข้าไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้งานในภายหลังได้ครับ ชุดอุปกรณ์ที่ผมซื้อมาทำโปรเจคนี้ ได้มาจาก Shopee ครับ เขาประกอบมาเป็นชุดตามภาพด้านล่างสุดเลยครับ แต่พอเวลานำมาใช้งานจริงผมคงต้องแยกถอดเอาเฉพาะตัวอุปกรณ์เพราะต้องนำไปติดตั้งรวมกับ NodeMCU และโมดูลอื่นๆอีกหลายตัว เนื่องจากกล่องที่ใช้ประกอบโปรเจค มีพื้นที่ค่อนข้างเล็ก

โซลาร์ชาร์จเจอร์ แบบมาตรฐานทั่วไปจะทำหน้าที่ดังนี้

– ควบคุมการชาร์จกระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ลงไปเก็บไว้ยังแบตเตอรี่
– จ่ายกระแสไฟ เมื่อแรงดันของแบตเตอรี่อยู่ในระดับต่ำ ตามที่แต่ละยี่ห้อที่ได้ตั้งค่ามา
– ตัดการจ่ายกระแสไฟเพื่อไปประจุยังแบตเตอรี่ เมื่อแรงดันของแบตเตอรี่อยู่ในระดับที่สูง ตามที่ได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกัน การชาร์จไฟเกินค่าที่กำหนด ซึ่งจะทำให้แบตเกิดความเสียหายและทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
– ทำหน้าที่คล้ายๆเป็นตัวสวิตซ์แสงอัตโนมัติ (Photo Switch) ทำให้หลอดไฟติดสว่างในเวลาที่มืด หรือไม่มีแสงมาตกกระทบแผงโซลาร์เซลล์ แต่หลอดไฟที่นำมาต่อเป็นโหลดนั้น ต้องเป็นชนิดไฟฟ้ากระแสตรง DC เท่านั้นครับ

ชุดควบคุมการชาร์จไฟ 30A Solar Charge Controller


โซลาร์ชาร์จเจอร์ (Solar Charge Controller) โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. โซล่าชาร์จเจอร์แบบ PWM ( pulse with modulation ) เป็นประเภทที่ทำงานโดยการควบคุมความถี่ของคลื่นไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ให้คงที่ ด้วยระบบดิจิทัล (Digital) ช่วยให้ประหยัดพลังงาน สามารถควบคุมการประจุไฟเข้าสู่แบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี และช่วยทำให้แบตเตอรี่ไม่เสื่อมเร็ว ส่วนมากมักมีราคาถูก และเหมาะสำหรับการผลิตกระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ที่มีจำนวนไม่มาก

2. โซล่าชาร์จเจอร์แบบ MPPT (Maximum Power Point Tracking) เป็นประเภทที่มีระบบ ไมโครโพรเซสเซอร์ หรือตัวตรวจสอบสัญญาณ ทำหน้าที่คอยควบคุมและดูแลสัญญาณไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับแรงดันกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ จากนั้นก็จะเลือกสัญญาณไฟฟ้าสูงสุด จากแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำมาประจุลงในแบตเตอรี่ให้เต็มที่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นระบบที่มีการออกแบบค่อนข้างซับซ้อน จึงเหมาะสำหรับการผลิตกระแสไฟ จากแผงโซลาร์เซลล์ที่มีจำนวนมากๆ และต้องการความแม่ยำสูงในการทำงาน ดังนั้นจึงมีราคาค่อนข้างสูงกว่าแบบ PWM อยู่พอสมควร