Arduino กับโปรเจค IOT ของผม

เมื่อครั้งที่ผมได้ไปงาน Bangkok International Book Fair 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ราวๆเดือน มีนาคม ตอนนั้นผมก็ได้ซื้อหนังสือที่ผมชอบมาอ่านหลายๆเล่มมาก และคุณพ่อผมได้ซื้อหนังสือให้กับผมอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ “พัฒนา IOT บนแพลตฟอร์ม Arduino และ Raspberry PI” เขียนโดย ดร.กอบเกียรติ สระอุบล ซึ่งคุณพ่อเห็นว่าผมเริ่มที่จะสนใจเกี่ยวกับเรื่อง Internet of Things (IoT) แต่ผมก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องสักเท่าไหร่ในตอนนั้น

ผมก็ไม่ค่อยได้สนใจอ่านมันเลย ยังคงเก็บมันไว้ในตู้หนังสือ จนลืมไปแล้ว พอเริ่มเข้าสู่การระบาดของโควิด 19 มันทำให้ผมต้องปรับตัวในเรื่องของการเรียน เพราะไปเรียนหนังสือตามปกติไม่ได้ เพื่อนๆหลายคนในห้องก็เริ่มมีการติดเชื้อโควิด 19 กัน จนทางโรงเรียนต้องประกาศให้นักเรียนทุกคนหยุดไปโรงเรียน และเปลี่ยนมาเรียนหนังสือแบบ Online อยู่กับบ้านแทน จำได้ว่าแรกๆผมกับคุณพ่อต้องช่วยกันหาอุปกรณ์มาทำฉากหลัง โดยอาศัยขาไฟสตูดิโอถ่ายภาพของพ่อ มากั้นขึงผ้าใบสีเขียว ทำเป็น Green Screen แบบพอให้ใช้ได้สำหรับการเรียนหนังสือ ผมต้องเริ่มเรียนรู้แทบทุกอย่าง ผ่านทาง Internet รวมทั้งการใช้งานโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ประกอบการเรียน เช่น Zoom Meeting

พอมีเวลาผมก็เข้าค่ายกิจกรรม ที่จัดแบบ Online สำหรับค่ายที่ผมสนใจ เช่น โครงการอบรมเชิงปฎิบัติการ “ปัญญาประดิษฐ์และเครื่องมือช่วยเหลือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์” ของ มจธ. , เรียน Coding (โค้ดดิ้ง) รวมไปถึง Internet of Things (IoT) นี้ด้วย ทำให้ผมต้องค้นหาข้อมูล เกี่ยวกับอุปกรณ์ IOT พวกนั้นใน Internet ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ได้ครอบคลุมไปซะทุกเรื่อง

ผมกลับมาอ่านหนังสือของ ดร.กอบเกียรติ สระอุบล อีกครั้ง เพราะข้อมูลพื้นฐานค่อนข้างจะมีครบ โดยเริ่มจากบอร์ด Micro-Controller (MCU) เช่น Arduino, NodeMcu ESP8266 ไม่ต้องติดตั้งระบบปฎิบัติการ แต่ภายในจะมีระบบจัดการภายในตัวมันเอง โดยมี Software คือ Arduino IDE เป็นเครื่องมือในการเขียนโปรแกรม ภาษา C ตรวจสอบแก้ไข รวมทั้ง Upload ส่งเข้าสู่ตัวบอร์ด นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ Sensor ต่างๆอีกหลายอย่าง

ผมหาซื้ออุปกรณ์เหล่านั้นมาทดลองทำเป็นโปรเจค ผมคิดว่าหมดเงินไปเยอะพอเหมือนกัน กับการลองผิดลองถูก ผมเริ่มทำโปรเจคแรกๆ ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะไม่เข้าใจการทำงานของอุปกรณ์แต่ละตัวดีพอ ทำให้โปรเจคไม่สามารถทำงานอย่างที่คิด จนต้องกลับมาทบทวนหาข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์แต่ละตัวใหม่ ทำอยู่อย่างนั้นอีกหลายรอบ ศึกษาหาความรู้จากหลายๆท่านใน Youtube  จนพอเข้าใจมันมากขึ้นและเริ่มทำโปรเจคใหม่อีกครั้ง โดยปรับให้เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ จนมันสามารถทำงานได้สำเร็จ เช่น โปรเจค IOT Smart Farm รดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ สำหรับ บอร์ดค่าย NodeMcu ESP8266 สำหรับผมแล้ว มองว่าเหมาะสำหรับการทำงานที่ไม่ต้องการความซับซ้อนอะไรมาก

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีบอร์ด Raspberry PI ที่เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแบบ บอร์ดเดียว (Single-board Computer) ที่มีระบบปฎิบัติการเป็นของตัวเอง ทำให้มีการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่า NodeMcu และแน่นอนมันย่อมมีราคาที่แพงกว่า Arduino, NodeMcu ESP8266 อยู่หลายเท่า รวมทั้งหาได้ค่อนข้างยากสำหรับบางรุ่น โดยเฉพาะ Raspberry Pi Zero 2 W (Wireless) ซึ่งเป็นบอร์ดขนาดเล็กและเป็นที่ต้องการของนัก DIY จำนวนมาก ผมเห็น Youtuber ต่างประเทศเขานิยมนำมาทำโปรเจคกันเยอะ

ในภาพข้างบนนี้ เป็นบอร์ดตัวใหม่ล่าสุดที่ผมได้ซื้อมาครับ มันคือ Raspberry PI 4 Model B RAM4 GB ครับ ผมคิดว่าอยากลองทำโปรเจคอะไรใหม่ๆ กับความสามารถของตัวอุปกรณ์ที่มีเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้เรียนรู้ศึกษาการทำงานของคอมพิวเตอร์แบบ Single-Board ดู ว่ามีอะไรพิเศษมากกว่า NodeMcu ESP8266 บ้าง เพราะทั้ง 2 บอร์ดนั้น มีความสามารถในการทำ IOT ได้เหมือนกัน และในเมื่อ Raspberry PI 4 มันมีระบบปฎิบัติการ Raspbian OS เป็นของตัวเอง แถมเป็น Open-Source Software อีกต่างหาก ก็น่าจะมีอะไรใหม่ๆให้ได้ทดลอง ได้เรียนรู้มากขึ้นกว่า NodeMcu แน่ๆ ไว้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังนะครับ